3 ศาสนา กับความเชื่อเรื่องความตาย

ความเชื่อเรื่องความตาย​

3 ศาสนากับความเชื่อเรื่องความตาย

ความเชื่อเรื่องความตาย “ความตาย”  “การเสียชีวิต” หรือคำเรียกอื่นๆที่ผู้คนใช้เรียกบุคคลหรือสัตว์โลกต่างๆที่เมื่อหมดสิ้นลมหายใจต้องประสบพบเจอทั้งสิ้น ไม่มีใครหนีพ้นได้ คำถาม “ตายแล้วไปไหน” จึงเป็นคำถามที่ผู้คนต่างแสวงหาคำตอบกันมานานแสนนาน แน่นอนว่าไม่มีใครรู้คำตอบที่แท้จริงนอกจากคนที่จะเคยตายไปแล้ว และฟื้นกลับมาบอกความจริงนี้เท่านั้น แม้เราจะไม่รู้คำตอบในเรื่องนี้ แต่เมื่ออ้างถึงหลักเหตุผล หรือหลักความเชื่อต่างๆ ของแต่ละศาสนา ก็ได้ให้คำอธิบายเอาไว้คล้ายคลึงกันไม่มากก็น้อย ดังนั้นในวันนี้ พีโอนี ฟิวเนอรัล จึงขอนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อหลังความตายของแต่ละศาสนามาให้ผู้อ่านได้ศึกษาทำความเข้าใจกับแต่ละความเชื่อของทุกศาสนาครับ

ความเชื่อเรื่องความตาย ศาสนาคริสต์

ความเชื่อเรื่องความตาย​

หัวใจของคริสตศาสนา รวมถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายต่างๆสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องการสิ้นพระชนม์ การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ไถ่บาปของมนุษย์ และการกลับคืนของพระชนมชีพนั้นก็เป็นการนำเอาชีวิตและวิญญาณจิตกลับมาสู่มนุษย์อีกครั้ง คริสตศาสนิกชนโยงความตายกับแนวคิดเรื่องบาปว่า ความตายเป็นผลจากบาปของมนุษย์ เป็นราคาที่มนุษย์ต้องจ่ายเพราะฝ่าฝืนน้ำพระทัยของพระเจ้า  คำว่า “ความตาย” นี้ไม่ได้หมายถึง ความตายทางเนื้อหนังร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว แต่การที่ต้องพัดพรากจากสิ่งที่รัก และการต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่รัก รวมทั้งความวิปโยคโศกเศร้าทั้งมวลที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์นั้น ก็ถือว่าเป็นความหมายของความตายด้วยเช่นเดียวกัน

ตามคติของคริสตศาสนา ความเชื่อเรื่องความตาย ทุกคนเกิดมาพร้อมกับมีวิญญาณจิตและมีบาปติดตัวมาด้วยตั้งแต่ตอนเกิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่คู่กับชีวิตตนจนสิ้นอายุขัยที่พระเจ้าทรงประทานให้ ทุกคนต้องตายทางร่างกายในครั้งแรก ส่วนวิญญาณจิตจะดำเนินต่อไปเป็นนิรันดร โดยไม่ต้องอาศัยเนื้อหนังร่างกายอีกต่อไป ดังนั้นช่วงเวลาที่วิญญาณจิตของมนุษย์ดำเนินไปในเนื้อหนังร่างกาย คือช่วงสำคัญและมีค่าที่สุด

เริ่มแรกนั้น คริสตศาสนิกชน ได้ขยายแนวคิดเรื่องครอบครัว และวงศ์ญาติ รวมถึงพระศาสนจักรโดยถือว่าล้วนเป็นเพื่อน หรือญาติพี่น้องที่จะต้องตายจากกันด้วยในที่สุด เพื่อรอพระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และกลับมามีชีวิตอันนิรันดรอีกครั้ง ในพระอาณาจักรแห่งพระองค์ ความคิดเรื่องการฟื้นคืนชีพนี้คาดว่าทำให้บรรดาคริสตศาสนิกชนนิยมการฝังมากกว่าการเผา แม้จะมีผู้แย้งว่า อันที่จริงในอดีต ชาวยิวที่ยังไม่ได้เข้ารีต ก็ทำพิธีศพด้วยการฝังโดยจะเก็บกระดูกไว้ในโถ เนื่องจากความเชื่อที่ว่าผู้ตายจะฟื้นคืนชีวิตใหม่ในภายหลัง แนวคิดของคริสตศาสนิกชน เรื่องการฝังนี้เข้ามาแทนที่การเผา ซึ่งเดิมเป็นที่นิยมในอาณาจักรโรมันดังพบว่าในระยะต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2 เมื่อขุดหลุมศพของชาวโรมัน จะพบแต่เถ้ากระดูก เมื่อล่วงเข้ากลางศตวรรษ บางหลุมศพก็จะเป็นเพียงกระดูก ขณะที่บางหลุมเป็นเถ้ากระดูก และสุดท้ายเมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 2 หลุมศพที่ขุดพบส่วนใหญ่มักจะพบแต่กระดูกของผู้ตายเท่านั้น

ในอังกฤษนั้น ประเพณีการฝังนี้ได้ดำรงอยู่จนกระทั่งเมื่อถึงประมาณศตวรรษที่ 17 โดยมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชุมชนเมืองเริ่มขายตัว เกิดความแออัด ยากต่อการหาที่ฝังศพ ทำให้ประเพณีการทำศพเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองใหญ่ เช่น สุสานมักเริ่มย้ายไปตั้งห่างออกจากตัวเมือง และเริ่มมีการทำศพด้วยวิธีการเผาศพ อย่างไรก็ตามคริสตศาสนาบางนิกายยังยืนยันที่จะทำศพด้วยกันฝัง เมื่อมีผู้ป่วยหนักใกล้จะตาย ญาติพี่น้องจะรีบเชิญบาทหลวงไปประกอบพิธี ยังสถานที่ ที่คนป่วยรักษาตัวอยู่ เพื่อให้ตายในศีลในพระพรของพระเป็นเจ้า

สุสานชาวยิว

คริสตศาสนิกชนนั้นเชื่อว่า เมื่อตายวิญญาณจะออกจากร่างกาย การจากไปอย่างสงบแสดงว่าวิญญาณนั้นมีความสุข ขณะที่ผู้ซึ่งตายอย่างยากลำบาก เจ็บปวด ทรมาน แสดงถึงปัญหาต่างๆกับผู้ที่กำลังจะจากไปและผู้ที่ยังอยู่ ดังนั้นในพิธีเป็นปกติที่จะต้องไม่แสดงความเศร้าโศกออกมาเนื่องจากเชื่อว่า จะเป็นการรบกวนการจากไปของผู้ที่กำลังจะสิ้นใจ

ความเชื่อเรื่องความตายของศาสนาคริสต์ มีอยู่ 3 ประการ

1. เป็นสภาวะการเปลี่ยนผ่าน “เราจะไม่ไปไหน มีเพียงร่างกายที่เปลี่ยน” ความตายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วและกำลังจะมาถึง ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่า “เราจะมีชีวิต โดยใช้ชีวิต  อย่างไร”

2. ความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิต และความตาย การมีชีวิตจึงต้องเป็นไปเพื่อสร้างความหมาย เพื่อรับใช้สังคมและโลก

3. โลกไม่ใช้กลไก หากประกอบด้วยชีวิตภายใน ประวัติศาสตร์ มนุษย์ไม่ได้มีแต่เพียงประวัติศาสตร์ ของเศรษฐกิจ การเมืองหากยังประกอบด้วย มิติทางศาสนธรรม และจริยธรรม

นอกจากนี้แล้ว ความตายในทัศนะของคริสตศาสนิกชน ไม่ได้หมายถึงความตายของปัจเจกเท่านั้นหากยังรวมถึงความบีบคั้น การบิดเบียน ความอยุติธรรมในสังคม การทำลายสิ่งแวดล้อมและโลก เหล่านี้เป็นบาป เป็นความตายเชิงคุณค่า คริสตศาสนิกชนย่อมต้องทำลายบาปเหล่านั้น ด้วยการใช้ชีวิตในการสร้างสังคมที่ดี

โลกทัศน์ของคริสตศาสนิกชน คือการมองว่าสรรพสิ่ง ล้วนประกอบด้วยความมีชีวิต และชีวิตย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ โลกที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เป็นโลกเดียวกับโลกียะ ความอยู่รอดของบุคคลย่อมเป็นสิ่งเดียวกับความอยู่รอดของโลกและจักรวาล

ความเชื่อเรื่องความตาย ศาสนาพุทธ

คนไทยส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธมีคติความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดคำสอนในพุทธศาสนากล่าวว่า มนุษย์ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ รูป(ร่างกาย) และจิต ร่างกายอาจเสื่อมถอยไปตามอายุขัย และแตกดับไป แต่จิตยังคงวนเวียนไปตามผลกรรมที่ได้กระทำเมื่อยามที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งแนวคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับวิญญาณจิตของศาสนาคริสต์ หากต้องการให้จิตหลุดพ้นจากวัฏจักรอันเป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด ต้องประกอบกรรมดี ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง และมุ่งฝึกพัฒนาจิต ละกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดเหนี่ยวรั้งใจทั้งปวง จึงจะได้พบกับนิพพาน การหลุดพ้นหรือจุดสูงสุดของพุทธศาสนา

แต่ในความหมายของพระพุทธศาสนา ความตายเป็นการดับของขันธ์ 5 ซึ่งประกอบด้วย รูป วิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร เมื่อขันธ์ 5 ดับ คือกายกับจิตดับลง จุดนั้นเรียกว่าความตาย การแพทย์เรียกว่าความตายก็ต่อเมื่อ “หัวใจหยุดเต้น” หรือ “สมองหยุดทำงาน” ดังนั้นจึงจำกัดอยู่เฉพาะทางกาย เท่านั้น แต่ในทางพุทธศาสนา ความหมายของความตาย ไม่ใช่เฉพาะทางกาย แต่ยังรวมถึงการดับลงของจิตด้วย ดังนั้น แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในทางพุทธ จึงต้องดูแลครอบคลุมทั้งมิติทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ

พิธีกรรมของชาวพุทธส่วนใหญ่จึงเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย เพราะเชื่อว่าจะส่งผลให้วิญญาณผู้ตายไปสู่สุคติ ไปสู่ภพภูมิที่ดี การประกอบพิธีกรรมหลายวันของคนไทยก็เป็นการคลายความโศกเศร้า การได้พบหน้าพบตากันของบรรดาญาติมิตรสหาย การร่วมกันบำเพ็ญจิตกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ ตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทย การจัดงานพิธีศพมีขั้นตอนแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1. วันถึงแก่กรรม 2. วันตั้งศพบำเพ็ญกุศล  3. วันฌาปนกิจ(วันเผา) 4. วันหลังฌาปนกิจ

งานศพไทย

แต่ละขั้นตอนของพิธีศพล้วนแฝงคติธรรมเพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงความตายและพิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต เช่นทิศทางการวางศพ โดยหันศีรษะของศพไปทางทิศตะวันตก เพราะเชื่อว่าเป็นทิศของคนตาย ซึ่งแฝงคติธรรมให้พิจารณาว่าการตายคือการเสื่อมสิ้นไป เหมือนพระอาทิตย์ที่ตกทางทิศตะวันตกเสมอ นอกจากนี้พิธีกรรมในหลายขั้นตอนยังสะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย เช่น พิธีนำเงินใส่ปากศพ โดยถือว่าเป็นการมอบทุนทรัพย์ให้ผู้ตายติดตัวไว้ใช้ในการเดินทางสู่โลกหน้า

การตั้งศพบำเพ็ญกุศลอาจกำหนดเป็น 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน แล้วแต่ฐานะของเจ้าภาพ แต่ถ้าเป็นการตายแบบผิดธรรมชาติหรือตายเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น อาจตั้งศพบำเพ็ญกุศลเพียงหนึ่งคืน และประกอบพิธีฌาปนกิจให้เร็วที่สุด การนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม แม้จะมองดูว่าเป็นการกระทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ แต่มีคติธรรมที่แฝงอยู่คือการเตือนสติให้ญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่ได้พิจารณามรณานุสติความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ให้มีสติกำกับการใช้ชีวิตอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ทำความดีและสร้างสมบุญกุศลทั้งปวงเพื่อความสุขทั้งยามมีชีวิตและเมื่อละสังขาร

การไปร่วมงานศพและการเคารพศพถือเป็นการแสดงความระลึกถึงผู้ล่วงลับ ขอขมาลาโทษและอโหสิกรรมให้แก่กัน วันที่สำคัญที่สุดของประเพณีงานศพคือวันฌาปนกิจหรือวันเผา เนื่องจากมีขั้นตอนพิธีกรรมมากมาย และเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนฝูงจะได้ส่งผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ตามประเพณีจะไม่นิยมเผาศพในวันพระและวันศุกร์

วันหลังฌาปนกิจ ลูกหลานและญาติมิตรของผู้ล่วงลับจะนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีบังสุกุลและเก็บกระดูกหรืออัฐิใส่โกศหรือภาชนะมีฝาปิดตามแต่ฐานะของครอบครัวผู้ล่วงลับ เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัด บางรายอาจแบ่งอัฐิบางส่วนมาเก็บไว้ที่บ้าน ส่วนเถ้าถ่านที่เผาศพจะรวบรวมและนำห่อผ้าขาวไปลอยที่แม่น้ำลำคลองหรือทะเล สมัยก่อนงานศพส่วนใหญ่จัดขึ้นที่บ้านของผู้ล่วงลับ แต่ปัจจุบันนิยมจัดพิธีบำเพ็ญกุศลที่วัด เพราะสะดวกทั้งเรื่องสถานที่และการทำพิธีกรรม

ความเชื่อเรื่องความตาย ศาสนาอิสลาม

การศรัทธาในโลกหน้า หรือการฟื้นคืนชีพหลังความตายเพื่อรับการไต่สวนในการกระทำของตน เป็นหนึ่งในหลักศรัทธาของชาวมุสลิม ดังที่ได้ปรากฏในบทสวดมนต์ขอพรบทหนึ่งที่สวดประจำวัน ซึ่งกล่าวว่าขอให้เขาอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข ขอให้พ้นจากไฟนรก แสดงให้เห็นว่าชีวิตหลังความตายหรือที่เรียกกันว่า “ชีวิตในหลุมฝังศพ” เป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมตระหนักอยู่เสมอ ในทัศนะอิสลาม ความตายไม่ใช่การสิ้นสุด การสูญเสีย ด้านมืด ด้านลบ หรือความน่ากลัวของชีวิต แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่าน เป็นด้านบวก ชั่วขณะของความตายนั้น เป็นชั่วขณะของการเกิดใหม่เหมือนเด็กทารกที่ออกจากท้องแม่ (จุดที่อาจจะต่างคือ ตอนเด็กคลอดออกมา เด็กร้องไห้ แต่คนรอบข้างต่างยิ้มหัวเราะดีใจ แต่ตอนก่อนจะตาย เราจะยิ้มเพื่อจะได้กลับคืนสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า แต่คนรอบข้างกลับร้องไห้) อิหม่ามหะซัน อัล-มุจตะบะฮ์ ได้เปรียบเปรยความตายว่า “สำหรับฉันแล้ว ความตายนั้นหอมหวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง”

อัล-กุรอ่าน ได้พูดถึงความตายในสามลักษณะคือ

ก) เป็นการพบกับพระผู้เป็นเจ้า (ใครที่ปรารถนาจะพบกับพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะต้องประพฤติปฏิบัติแต่กรรมดี, อัล-กุรอ่าน18:110)  

ข) เป็นการกลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า (แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ (ซ.บ.) และแน่นอนเราจะต้องกลับคืนสู่พระองค์, อัล-กุรอ่าน 2:156)

ค) ความสวยงามอีกประการหนึ่งของการตีความหมายเกี่ยวกับความตายในอัล-กุรอ่าน คือ กล่าวถึงการมาเอาความตายของ อิสรออีล ว่าเป็นการจับถือเอาดวงวิญญาณออกจากร่าง เพื่อไปปล่อยวางสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เป็นการทำลาย หรือดับสูญ (อัล-กุรอ่าน 32:11)

คำถามก็คือว่า แล้วทำไมคนเราจึงกลัวตายกัน?  สาเหตุอาจเป็นดังนี้

ก) ขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความตาย หรือมีทัศนคติในเชิงลบ คือ มองว่าความตายเป็นการสูญเสีย เป็นการจากไป หรือเป็นด้านมืดของชีวิต

ข) ความตายเป็นสิ่งใหม่และเป็นแนวทางที่เราไม่คุ้นเคย- เพราะไม่เคยมีคนที่เคยตายไปแล้วมาบอกว่าเราว่าหนทางแห่งนี้เป็นเช่นไร จึงทำให้เกิดความกังวล

ค) ขาดการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตาย หลายคนอาจจะมีทั้งสองข้อข้างต้น คือ รับรู้และเข้าในอย่างถูกต้องและเข้าใจเส้นทางใหม่หลังความตาย แต่ยังคงกลัวอยู่เพราะขาดการเตรียมพร้อม เพราะเรามัวแต่ชื่นชมสะสมความสุขแต่เพียงในโลกนี้ และทำลายต้นทุนและเสบียงที่จะนำสู่การมีชีวิตที่ดีสำหรับโลกหน้า”

คัมภีร์อัล-กุรอาน (Al-Quran)

 

ตามความเชื่อทางศาสนาอิสลามนั้นกายของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือกายหยาบหรือร่างกาย และกายละเอียดหรือจิตวิญญาณ ส่วนการตายคือการที่กายละเอียดแยกจากกายหยาบ นั่นหมายถึงว่ากายละเอียดไม่สามารถควบคุมกายหยาบได้อีกแล้ว เมื่อความตายมาเยือน หน้าที่ของชาวมุสลิมคือ การจัดการดูแลกายหยาบของผู้เสียชีวิตให้เรียบร้อย โดยมีระเบียบปฏิบัติได้แก่ การอาบน้ำทำความสะอาดศพและห่อด้วยผ้าขาว การสวดวิงวอนอุทิศแด่ผู้วายชนม์ ตามประเพณีแล้วหน้าที่ในสุสานเป็นของผู้ชาย ส่วนการดูแลศพในเบื้องต้นเป็นหน้าที่เฉพาะเพศเดียวกัน แต่ถ้าไม่มีบุคคลเพศเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของลูก ภรรยา หรือสามี การประดับตกแต่งโลงศพเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยมักคลุมด้วยผ้าประดับลวดลายโองการจากพระคัมภีร์ หรือตกแต่งด้วยดอกไม้หรืออาจใช้ใบไม้ที่เป็นพืชตระกูลมินต์ ซึ่งให้น้ำมันหอมระเหย เช่น ใบโหระพา อันเป็นสัญลักษณ์ของพืชแห่งสรวงสวรรค์ ซึ่งในบทสวดมีคำกล่าวถึงพืชนี้อยู่ด้วย

พิธีศพของชาวมุสลิม

ขอบคุณรูปภาพจาก http://donatequran.com/funeral-rites-and-regulations-in-islam/

 

เมื่อชาวมุสลิมได้รับรู้ข่าวการเสียชีวิตเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยเหลือ ร่วมแสดงความเสียใจและให้กำลังใจแก่ครอบครัวของผู้วายชนม์ ต้องปฏิบัติตัวอย่างให้เกียรติและให้ความเคารพต่อผู้ตาย ห้ามพูดวิจารณ์ถึงผู้เสียชีวิตในทางเสื่อมเสีย พิธีศพของชาวมุสลิมใช้วิธีการฝังเพื่อให้ร่างสลายไปตามธรรมชาติเท่านั้น โดยปกติแล้วต้องฝังให้เร็วที่สุด ส่วนสถานที่ฝังศพคือสุสาน หรือที่เรียกกันว่า “กุโบร์” ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่พำนักรอคอยที่แรกก่อนเข้าสู่การตัดสินในวันแห่งคำพิพากษา ตามความเชื่อของศาสนาที่ว่าโลกมีการแตกดับ หลังจากวันสิ้นโลกจะเป็นวันแห่งการพิพากษา ซึ่งทุกชีวิตจะถูกปลุกฟื้นเพื่อรับการตัดสินจากพระเจ้าตามสิ่งที่ตนได้กระทำไว้ พิธีฝังศพตามหลักของศาสนาอิสลามที่พบในเมืองไทยมี 2 รูปแบบ คือ การฝังทั้งหีบและการฝังโดยไม่ใช้หีบ การฝังศพที่ไม่ใช้หีบจะต้องมีกระดานไม้ปิดเพื่อไม่ให้ถูกดินกดทับ การนำศพลงสู่หลุมเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่เป็นชาย ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ลงไปรอรับศพในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ การฝังศพจะฝังในท่านอนตะแคงส่วนศีรษะและใบหน้าหันไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารกะบะฮ์ที่ตั้งอยู่ในนครเมกกะนั่นเอง ชาวมุสลิมไม่มีความเชื่อเรื่องการฝังสิ่งของมีค่าใด ๆ ไปในหลุมศพกับผู้ตาย สิ่งที่ชาวมุสลิมเชื่อว่าจะติดตัวผู้ตายไปมีเพียง 3อย่างเท่านั้น คือ หนึ่ง ความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและศาสนกิจที่ตนสั่งสมไว้ สอง วิทยาทานหรือกุศลทาน และสาม  การมีบุตรที่ดีเพื่อทำหน้าที่ขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าให้แก่ตนหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว

เราจะเห็นได้ว่าหลักคำสอน ความเชื่อของแต่ละศาสนาจะมีจุดหนึ่งที่มีความเชื่อคล้ายคลึงกันนั่นคือการแยกกันของกาย กับจิต ที่เมื่อร่างกายแตกดับ จิตจะยังคงอยู่ ศาสนาคริสต์เชื่อว่าจิตจะยังคงวนเวียนและรอวันได้กลับไปอยู่กับพระองค์เจ้า ศาสนาพุทธสอนให้คนพบหาความหลุดพ้น การเข้าสู่นิพพาน นั่นคือเมื่อร่างกายแตกดับ จิตจะได้ไม่ต้องวนเวียนเร่ร่อนอยู่บนโลกนี้อีกต่อไป ศาสนาอิสลามมีความเชื่อของศรัทธาในโลกหน้า ชาวมุสลิมเชื่อว่าการตายคือการเกิดใหม่กลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า หลักคำสอนและความเชื่อต่างๆนั้นถึงจะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกศาสนานั้นสอนเหมือนกันก็คือ การสอนให้มนุษย์ทุกคนใช้เวลาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ปฏิบัติความดีในขณะที่จิตยังคงสถิตอยู่ในร่างกายของเราครับ